วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชุม ผอ.รร.ดัง เพื่อกำหนดเกณฑ์รับนักเรียนปี ๒๕๕๔

นาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมกับผู้บริหารโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เพื่อกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติ และหลักเกณฑ์การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และมัธยมศึกษาปีที่ ๔ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ


รมว.ศธ.กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้บริหาร สพม.และผู้บริหารโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม ๒๑ คนว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ จุดเน้นการรับนักเรียน ใน ๓ ประเด็นที่สำคัญคือ

-เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน ด้วยกระบวนการรับนักเรียนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นธรรม และเสมอภาค
-ให้กำหนดหลักเกณฑ์และสัดส่วนแผนการรับนักเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๔ ให้เหมาะสมกับการยกระดับคุณภาพนักเรียนและโรงเรียนให้ใกล้เคียงกัน รวมทั้งสายอาชีพด้วย โดยให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงปรับแผนชั้นเรียนรายปี เป็นให้รับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ มากขึ้น และลดแผนการรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ลง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน เช่น โรงเรียนคู่ขนาน โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา
-ไม่ให้โรงเรียนมีการเรียกเก็บเงินโดยเป็นเงื่อนไขแลกกับการรับเด็กเข้าเรียน แต่โรงเรียนสามารถระดมทรัพยากรได้จากเด็กทุกคน ด้วยความโปร่งใส เปิดเผย เป็นไปตามหลักเกณฑ์ประกาศ ศธ. โดยจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ และควรยกเว้นนักเรียนที่มีฐานะยากจน

หลักเกณฑ์การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔

ให้รับนักเรียนชั้น ม.๔ จากนักเรียนที่จบชั้น ม.๓ ของโรงเรียนที่มีศักยภาพเหมาะสมเข้าเรียน และเปิดโอกาสให้รับนักเรียนทั่วไปจากโรงเรียนอื่นเข้าเรียนด้วย แต่กำหนดสัดส่วนให้รับนักเรียนทั่วไป ไม่เกินร้อยละ ๒๐ ดังนี้

-โรงเรียนที่เปิดสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้รับนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.๔ จากนักเรียนที่จบชั้น ม.๓ ของโรงเรียนที่มีศักยภาพเหมาะสมเข้าเรียน โดยโรงเรียนและคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขต พื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกที่เป็นธรรม โปร่งใส และเปิดโอกาสให้รับนักเรียนทั่วไปจากโรงเรียนอื่นเข้าเรียนด้วย ตามสัดส่วนที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขต พื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำหนด ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ ๒๐

-กรณีรับนักเรียนทั่วไปจากโรงเรียนอื่นเข้าเรียนชั้น ม.๔ ให้ใช้วิธีการสอบคัดเลือก โดยใช้แบบทดสอบวัดความสามารถทางวิชาการของโรงเรียน หรือให้ใช้ผลคะแนน O-NET

-ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา จัดหาที่เรียนให้เด็กที่ประสงค์จะเข้าเรียนชั้น ม.๔ ได้เข้าเรียนทุกคนตามความเหมาะสม ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ โดยวางแผนการรับนักเรียนร่วมกันกับโรงเรียนทุกสังกัด

การเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง

ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาพิจารณา แต่ควบคุมจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน ๕๐ คน และไม่ให้ขยายเพิ่มห้องเรียน ดังนี้

-โรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กปกติหรือจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส

๑.ให้โรงเรียนรับนักเรียนชั้นก่อนประถมศึกษา ห้องละ ๓๐ คน หากมีความจำเป็นต้องรับเกิน ให้รับได้ไม่เกินห้องละ ๔๐ คน โดยให้เสนอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอนุมัติ ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำหนด

๒.ให้โรงเรียนรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ห้องละ ๔๐ คน หากมีความจำเป็นต้องรับเกิน ให้รับได้ไม่เกินห้องละ ๕๐ คน โดยให้เสนอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอนุมัติ ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำหนด

๓.ให้โรงเรียนรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ห้องละ ๔๐ คน หากมีความจำเป็นต้องรับเกิน ให้รับได้ไม่เกินห้องละ ๕๐ คน โดยให้เสนอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่การ ศึกษามัธยมศึกษาอนุมัติ ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขต พื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำหนด

-โรงเรียนที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ให้โรงเรียนรับนักเรียนพิการ ห้องละ ๑๐ คน หากมีความจำเป็นต้องรับเกิน ให้รับได้ไม่เกินห้องละ ๑๕ คน

-โรงเรียนที่จัดการศึกษาด้วยวัตถุประสงค์พิเศษ ให้โรงเรียนรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาห้องเรียนพิเศษ EP และ MEP ห้องละ ๓๐ คน ชั้นมัธยมศึกษา EP และ MEP ห้องละ ๓๐ คน ห้องเรียนอื่นๆ ห้องละ ๓๖ คน หากมีความจำเป็นต้องรับเกิน ให้รับได้เฉพาะห้องเรียนอื่นๆ ไม่เกินห้องละ ๔๐ คน โดยให้เสนอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่การ ศึกษามัธยมศึกษาอนุมัติ ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขต พื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำหนด
แผนการรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔ โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงกำหนดแผนการรับเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๔ โดยเพิ่มแผนการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ มากขึ้น และลดแผนการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ลง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนใกล้บ้านในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนดีประจำ ตำบล โรงเรียนดีประจำอำเภอ โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนเอกชน และได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง มากขึ้น เมื่อดำเนินการรับนักเรียนแล้ว ไม่อนุญาตให้มีการขยายห้องเรียนเพิ่มได้อีก

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ ขอให้โรงเรียนงดการรับฝากเด็ก ซึ่งตนจะไม่รับฝากเด็ก และไม่ให้คนใกล้ชิดหรือผู้ใดนำชื่อไปแอบอ้างฝากเด็กโดยเด็ดขาด หลังจากนี้จะประชุมร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในนโยบายการรับนักเรียนต่อไป จากนั้น ศธ.จะมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องต่อสาธารณชนก่อนถึงกำหนดระยะเวลาการ สมัครรับนักเรียน ซึ่งขณะนี้ได้ให้ สพฐ.ปรับปรุงแก้ไขประกาศแนวปฏิบัติการรับนักเรียน เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงการวิ่งเต้นฝากเด็กหรือเรียกเก็บ เงินที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ศธ. อีกต่อไป และที่สำคัญคือ เพื่อตอบโจทย์เรื่องคุณภาพของนักเรียนและสถานศึกษา ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง คือ คุณภาพ โอกาส และการมีส่วนร่วม

สำหรับผู้บริหารโรงเรียนที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ คือ ผอ.สพม.เขต ๑, ผอ.สพม.เขต ๒, ผอ.รร.เตรียมอุดมศึกษา, สวนกุหลาบวิทยาลัย, สตรีวิทยา, เทพศิรินทร์, สามเสนวิทยาลัย, ศึกษานารี, บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), หอวัง, เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ, สตรีวิทยา๒, สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี, เบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา, สตรีสมุทรปราการ, ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ฯ, หาดใหญ่วิทยาลัย ๒, ปทุมเทพวิทยาคาร, วัฒโนทัยพายัพ, ขอนแก่นวิทยายน และลำปางกัลยาณี.

1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยครับที่จํากัดจำนวนนักเรียนในห้องเรียน EP ไม่เกิน 30 คน เพราะ อจ จะได้ ดูแล นร ทั่วถึง

    ตอบลบ